อาการละเมอ ละเมอเดิน
อาการละเมอ ละเมอเดิน
อาการละเมอ ละเมอเดิน เป็นเรื่องปกติที่เราจะนอนละเมอในบางครั้ง โดยมีตั้งแต่อาการละเมอเบา ๆ เช่น ละเมอพูดไปเรื่อยเปื่อย ละเมอหัวเราะ ร้องไห้ สะดุ้งตื่น มึนงง สับสน ลุกขึ้นมาลืมตา ละเมอทำร้ายคนที่นอนด้วยข้าง ๆ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีอาการละเมอเดิน ซึ่งกรณีนี้
น่าเป็นห่วงไม่น้อยเลยนะ เพราะคนละเมอไม่รู้สึกตัวเอง ไม่มีสตินึกคิดมากพอจะระมัดระวังตัว ดังนั้นอาจเดินละเมอไปนอกบ้าน เสี่ยงอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือหากอยู่คอนโด บ้านเป็นตึกสูง ก็อาจละเมอเดินตกตึกกันได้ งั้นเรามาหาวิธีแก้กันดีกว่า จะรักษายังไงได้บ้างนะแบบนี้
นอนละเมอ เกิดจากอะไร

การนอนละเมอ เป็นภาวะผิดปกติที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากเรานอนหลับไปแล้ว 1-3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของเราหลับลึก แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง แบบกะทันหัน โดยมีคลื่นไฟฟ้าแบบการตื่นเข้ามาผสม ทำให้เวลาที่เราละเมอจะมีอาการคล้าย ๆ กึ่งหลับกึ่งตื่น
อย่างบางคน อาจละเมอแบบลืมตา แต่จริง ๆ แล้วไม่รู้สึกตัว เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ไม่กี่นาที และกลับมานอนต่อได้อย่างรวดเร็ว พอตื่นขึ้นมา เช้าอาจจำเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การนอนละเมอพบได้บ่อยในวัยเด็ก ซึ่งทางการแพทย์ สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะสมองเด็กยังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงมีการละเมอเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นอกจากนี้ในครอบครัวที่มีประวัตินอนละเมอบ่อย ยังมีโอกาสที่คนรุ่นหลัง ๆ จะนอนละเมอ
ได้มากกว่าปกติเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว ทั้งนี้ การนอนละเมอ ยังเกิดได้กับคนที่นอนไม่หลับ อดหลับอดนอนเป็นเวลานาน คนที่มีภาวะเครียด รู้สึกเหนื่อยล้า ผู้ป่วยที่ไม่สบาย เป็นไข้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือเป็นผลข้างเคียง จากการใช้ยาบางชนิดด้วย
รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรค ซึ่งกระทบกับการนอนหลับ เช่น โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะง่วงนอนมากเกินไป กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ไมเกรน เป็นต้น
ละเมอเดิน อาการเป็นยังไง
การละเมอเดินเป็นการละเมอชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติระหว่างช่วงหลับลึก และหลับตื้น โดยอาการมีตั้งแต่เบา ๆ เช่น เดินไปเปิดไฟ แล้วเดินกลับมานอนต่อ ไปจนเดินละเมอทำกิจกรรมที่ซับซ้อนขึ้น
เช่น ละเมอขับรถ หรือละเมอมีเพศสัมพันธ์ ละเมอเดินไปนอนที่อื่น และเมื่อตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้
ควรปลุกคนนอนละเมอ-ละเมอเดิน ให้ตื่นหรือไม่ ?
จริง ๆ แล้ว ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ว่าการปลุกคนละเมอให้ตื่น จะเป็นอันตรายกับร่างกาย เพียงแต่เมื่อคนละเมอตื่นขึ้นมาแล้ว จะรู้สึกมึนงง สับสนอย่างรุนแรงชั่วขณะ ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ หรือมาอยู่ตรงบริเวณนั้นได้อย่างไร ซึ่งหากเดินหรือทำกิจกรรมอะไรอยู่ในขณะนั้น
อาจล้มหรือเป็นอันตรายได้ ดังนั้น เราจึงมักไม่ค่อยปลุก ให้คนละเมอเดินตื่น และไม่ควรตะโกนใส่ เพราะเขาอาจตื่นตระหนก จนเป็นอันตรายกับตัวเอง วิธีที่ดีที่สุด เมื่อเห็นคนนอนละเมอ หรือละเมอเดินก็คือ จะพยายามกล่อม และไปที่เตียงอย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

นอนละเมอแบบไหน ควรพบแพทย์
คนทั่วไปจะนอนละเมอได้คืนละ 1-2 ครั้ง ตามรอบของการหลับลึก แต่ถ้าละเมอมากกว่า 2 ครั้ง อาจไม่ใช่การละเมอ เพราะอาจเกิดจากความผิดปกติ ของการนอน มีอาการชัก หรือปัญหาสุขภาพจิตก็ได้ จึงควรพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง
นอกจากนี้ หากเป็นวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่แล้ว ยังมีการละเมออยู่บ่อย ๆ หรือการละเมอเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองอับอาย รบกวนคุณภาพชีวิต ก็ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน
ละเมอเดิน รักษาได้ไหม
โดยปกติแล้ว การเดินละเมอ มักจะเกิดในช่วงวัยเด็ก พอโตขึ้นอาการจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่ในผู้ใหญ่ที่ยังมีอาการเดินละเมอ และเป็นบ่อยครั้ง แพทย์อาจจะรักษาด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
– ซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อหาปัจจัยที่ทำให้ละเมอ
– หากไม่พบปัจจัย ที่ทำให้ละเมอ เช่น ความเครียด หรือการใช้ยาบางชนิด อาจตรวจการนอนหลับร่วมด้วย
– ในคนที่มีอาการละเมอหนัก ๆ แพทย์อาจให้ยาเพื่อลดการละเมอ
วิธีแก้นอนละเมอ รู้เคล็ดลับก็ป้องกันได้
เราสามารถป้องกันการนอนละเมอ ได้ด้วยการนอนหลับ อย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมสุขนิสัยที่ดีในการนอนหลับ เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ตื่นและนอนให้เป็นเวลา ลดการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
พยายามทำให้ตัวเอง ผ่อนคลายก่อนเข้านอน ไม่เล่นคอมพิวเตอร์ ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการละเมอได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ หากพบว่ากินยาบางตัวแล้ว มีอาการละเมอเกิดขึ้น อาจปรึกษาแพทย์ ให้เปลี่ยนยา เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว
ติดตามเรื่องราว ขิงที่หลาย ๆ คนไม่ชอบกิน มีประโยชน์มากมาย