โรค RSV ที่อันตรายต่อเด็กเล็กมากๆ
โรค RSV ที่อันตรายต่อเด็กเล็กมากๆ
โรค RSV ที่อันตรายต่อเด็กเล็กมากๆ ไวรัส RSV ที่กำลังระบาดอย่างหนักในเด็ก จริง ๆ แล้วผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อนี้ได้ และอาจเป็นพาหะนำโรคสู่เด็ก ๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท และเพื่อให้เราสังเกตอาการ RSV ได้ทัน อยากพามารู้จักกับโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สักหน่อย

1. ไวรัส RSV คืออะไร
ไวรัส RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ RSV สายพันธุ์ A และ RSV สายพันธุ์ B เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง โดยไวรัสนี้ถือกำเนิดมาหลายสิบปีแล้ว
แต่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กเล็กป่วยโรคติดเชื้อไวรัส RSV มีการระบาดมาก และมักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็ก
2. RSV ใครเสี่ยงบ้าง ผู้ใหญ่เป็นได้ไหม
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) พบได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว จะป่วยได้ง่าย
และมีอาการรุนแรงกว่าวัยผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันสูง ซึ่งหากผู้ใหญ่ติดเชื้อก็จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ แต่ภายใน 3-5 วันก็จะหายเองได้ เพียงแค่ระหว่างที่ป่วยควรระวังการแพร่เชื้อให้กับเด็กหรือคนที่มีร่างกายอ่อนแอกว่าด้วย
3. โรค RSV ติดต่อทางไหนได้บ้าง
เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจ จึงติดต่อได้ง่ายผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อ RSV เข้าไป เช่น ละอองจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยบนพื้นผิวโต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิด ของเล่น โทรศัพท์ หรือพื้นผิวสัมผัสได้บ่อยอื่น ๆ
ทั้งนี้ เชื้อไวรัส RSV สามารถอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมง อยู่บนมือเราได้นานประมาณ 30 นาที และหากป่วยแล้วจะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้นาน 3-8 วัน หลังมีอาการป่วย แต่ในเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจแพร่เชื้อได้นานถึง 3-4 สัปดาห์

4. RSV อาการเป็นอย่างไร
อาการจะเริ่มแสดงหลังร่างกายได้รับเชื้อไปแล้ว 4-6 วัน โดยเริ่มแรกจะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ตามด้วยอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เสมหะมากและมีลักษณะเหนียวข้น
แต่หากอาการรุนแรงจะหายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ หายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย
5. RSV ต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร
อย่างที่บอกว่า อาการ RSV ในระยะแรกอาจคล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่สิ่งที่ต่างออกไปและทำให้แยกโรคได้ว่าป่วยเป็นหวัดหรือ RSV ก็คือ หากป่วย RSV เสมหะจะเยอะ
ร่วมกับมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะหลอดลมตีบหรือหลอดลมฝอยอักเสบ อันเป็นลักษณะจำเพาะของโรค RSV เนื่องจากเชื้อไวรัสจะลุกลามไปที่ปอด
6. ป่วย RSV ต้องนอนโรงพยาบาลทุกคนไหม
ในเคสที่ติดเชื้อ RSV และมีอาการค่อนข้างรุนแรง เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว ซึม เด็กไม่เล่นเหมือนเก่า หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย ควรพาไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็อาจให้นอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดได้
7. ป่วย RSV หายเองได้ไหม
ในกรณีที่ติดเชื้อ RSV และมีอาการไม่รุนแรง คล้ายโรคหวัด เช่น มีไข้เล็กน้อย ไอ จาม ไม่มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจมีเสียงหวีด ไม่ซึมมาก กินอาหารได้ตามปกติ
ก็สามารถรักษาตามอาการที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และอาการจะหายได้ภายใน 5-7 วัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วนนะคะ
8. RSV มียารักษาโรคหรือยัง
ณ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โดยตรง ยังคงต้องรักษาไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

9. โรค RSV อันตรายแค่ไหน ป่วยแล้วถึงตายหรือเปล่า
แม้อาการแรกเริ่มของโรค RSV จะไม่น่ากลัวเท่าไร แต่หากรักษาไม่ทันเพราะชะล่าใจคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา อาจมีอาการรุนแรงไปถึงปอดอักเสบ หรือปอดบวมได้ ซึ่งหากภาวะนี้เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก
หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลย
ติดตามเรื่องราว กัญชงกับกัญชา เหมือนกันอย่างไร แตกต่างกันไหม