Exhibitionism หรือโรคชอบโชว์ของลับ
Exhibitionism หรือโรคชอบโชว์ของลับ
Exhibitionism หรือโรคชอบโชว์ของลับ เป็นพฤติกรรม หรือความรู้สึกทางเพศที่ผิดปกติ (Paraphilic Disorder) รูปแบบหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมชอบโชว์อวัยวะเพศของตนเองต่อคนแปลกหน้าหรือในที่สาธารณะ
ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นแรงกระตุ้นจากสมอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้น และเกิดความพึงพอใจทางเพศ บางคนสามารถ ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่ตามมา แต่ควบคุมตนเองไม่ได้ ความรู้สึกและพฤติกรรมของโรคชอบโชว์ พบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น โ
ดยแรงกระตุ้น และพฤติกรรมอาจค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จากข้อมูลบางส่วนพบว่า ในผู้ชาย 100 คนอาจพบผู้ที่เป็นโรคนี้เฉลี่ย 2–4 คน บทความนี้ จะช่วยสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับอาการทางจิตชนิดนี้ และวิธีรับมือได้อย่างถูกต้อง

ทำความรู้จักกับ Exhibitionism
ลักษณะและอาการ ที่เห็นได้ชัดของผู้ป่วย Exhibitionism คือ พฤติกรรมการโชว์ของลับ ให้กับคนแปลกหน้า หรือผู้ที่ไม่ยินยอม ในภาษาอังกฤษจะเรียกพฤติกรรมนี้ ว่าเรียกว่าแฟลชชิ่ง (Flashing) ผู้ที่มีพฤติกรรมแฟลชชิ่ง มักสวมเสื้อคลุมหรือใช้วัตถุบางอย่าง ปิดบังอวัยวะเพศ
เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หากเจอเป้าหมายจะเดินเข้าในไประยะสายตา ที่เป้าหมายมองเห็นและโชว์อวัยวะเพศของตน ทั้งนี้ เป้าหมายอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไป บางคนอาจเลือกเป้าหมายในกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ หรือเลือกตามลักษณะอื่น ๆ
หลังจากผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมดังกล่าว เป้าหมายส่วนใหญ่มักแสดงท่าที และมีอาการตกใจ ทั้งทางสีหน้า ท่าทาง และการส่งเสียงร้อง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นเต้น และเกิดอารมณ์ทางเพศจากการเห็นปฏิกิริยา ของเป้าหมาย เนื่องจาก ผู้ป่วยจะตีความท่าทางของเป้าหมาย ไปในลักษณะของการตอบสนองทางเพศ
นอกจากการโชว์ของลับแล้ว ผู้ป่วยบางราย อาจช่วยตนเอง หรือสำเร็จความใคร่ต่อหน้าเป้าหมาย บางรายอาจหลบ และไปสำเร็จความใคร่ ภายหลังจากโชว์อวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักไม่ใช่การสัมผัสกับร่างกายของเป้าหมาย แต่ก็อาจพบได้ในบางกรณี
ทั้งนี้ สาเหตุของ Exhibitionism ยังไม่รู้แน่ชัด แต่อาจเกิดร่วมกับปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น
- โรคเสพติดเซ็กส์ (Sex Addiction)
- โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)
- โรคชอบเด็ก (Pedophilia)
- พฤติกรรมติดแอลกอฮอล์
- ประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจในช่วงวัยเด็ก
โรคนี้ไม่เพียงส่งผลต่อเป้าหมายเท่านั้น แต่ส่งผลต่อตัวผู้ป่วยเช่นเดียวกัน เพราะผู้ป่วยบางส่วน สามารถตระหนักถึงอาการของตนเอง ว่าอาจนำมาซึ่งความเดือดร้อน และเสียหายแก่ตนเองและผู้อื่น
ทั้งในด้านชื่อเสียง ความเป็นอยู่ การงาน ความสัมพันธ์ และกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถควบคุมตนเอง จากแรงขับทางเพศจากภายในได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้ จึงมักเกิดความรู้สึกผิด หลังได้กระทำการดังกล่าว
รู้ได้อย่างไรว่าเป็น Exhibitionism
บางคนอาจมีความรู้สึกต้องการโชว์อวัยวะเพศ ต่อหน้าคนแปลกหน้าหรือในที่สาธารณะ จึงอาจสงสัยถึงความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง ว่าเป็นรสนิยมทางเพศหรือเป็นความผิดปกติทางจิต โดยทั่วไปแล้ว จิตแพทย์อาจวินิจฉัยว่ าผู้ป่วยเป็นโรคชอบโชว์

หากมีพฤติกรรม และความรู้สึกต้องการทางเพศในรูปแบบดังกล่าวซ้ำ ๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และอาการเหล่านั้น เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อย่างการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
แม้ว่าจะไม่มีพฤติกรรม ต่อเนื่องตามเกณฑ์ดังกล่าว แต่พฤติกรรมเหล่านั้นก็เข้าข่ายการคุกคามทางเพศซึ่งผิดต่อกฎหมาย หากพบว่าตนเอง เริ่มมีความคิดหรือเริ่มแสดงพฤติกรรมเหล่านั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจและทำการรักษา
การรักษา Exhibitionism
ผู้ป่วยโรคชอบโชว์ในระดับที่ไม่รุนแรง อาจรับมือด้วยการควบคุมอารมณ์ตนเองต่อแรงกระตุ้น และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา แต่ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนมากไม่สามารถตระหนักถึงอาการ และผลลัพธ์ของพฤติกรรม อาจเกิดความรู้สึกกลัวเมื่อต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ด้วยตนเอง
ผู้ป่วยจึงมักเข้าสู่กระบวนการรักษา เมื่อถูกจับโดยเจ้าหน้าที่หรือคนในครอบครัวพามารักษา อย่างไรก็ตาม หากคนในครอบครัว หรือคนรอบข้างผู้ป่วยที่สังเกตเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมของโรคนี้ ควรพาผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจและรักษา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา
สำหรับผู้ที่แพทย์ วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรค Exhibitionism แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาลดฮอร์โมนเพศ ยาต้านเศร้า และยารักษาโรคจิตเภทชนิดอื่น เพื่อลดแรงกระตุ้นทางเพศ รวมทั้งอาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางราย เข้ารับการบำบัดต่อไปนี้
- การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รู้จักตนเอง รูปแบบของความต้องการ ความคิด และพฤติกรรมดังกล่าวได้มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับอารมณ์ ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา และลดความรุนแรงของโรค
- จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการพูดคุยกับเพื่อสร้างความเข้าใจของปัญหา เรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ สร้างความเข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่น ไปจนถึงการปรับรูปแบบความคิด (Cognitive Restructuring) ที่อาจช่วยรับมือกับอาการได้
แม้ว่าจะเป็นอาการของโรค แต่พฤติกรรมดังกล่าวอาจสร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนกต่อผู้พบเห็นได้ไม่น้อย อีกทั้งยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตกเป็นเป้าหมายของผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งการแสดงออก ถึงท่าทีตกใจอาจกระตุ้น ให้ผู้ป่วยทำพฤติกรรมดังกล่าวต่อไปหรืออาจรุนแรงขึ้น
ดังนั้น หากเจอกับผู้ป่วยโรค Exhibitionism ควรทำเป็นมองไม่เห็น ไม่สนใจ และค่อย ๆ เดินออกจากบริเวณนั้น เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการตอบสนอง อย่างที่ตนต้องการก็จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าว จากนั้น ผู้ประสบเหตุควรแจ้งหน่วยงานรัฐ ให้นำตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเพศอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ติดตามเรื่องราว อาการของคน ติดการพนัน